11/12/2011

ตราครุฑที่ใช้ในหนังสือราชการมีที่มาอย่างไร




ครุฑ หรือ พญาครุฑ เป็นสัตว์กึ่งเทพ ตามคติไทยโบราณเชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนกที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์ เชื่อว่าปกติอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรีที่ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า สุบรรณ ซึ่งหมายถึง ขนวิเศษ ครุฑ เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง สามารถบินได้รวดเร็ว ทั้งยังมีสติปัญญาเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด อ่อนน้อม ถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ น่าสรรเสริญ

ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงได้มีการสร้างรูป ครุฑพ่าห์ หรือ พระครุฑพ่าห์ หมายถึง ครุฑที่เป็นพาหนะ เป็นรูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทิธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์จึงเป็นสัญญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฎอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น







ตราพระครุฑพ่าห์สำหรับใช้เป็นตราหัวหนังสือราชการ




จากการที่ใช้ตราครุฑ์เป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ตราครุฑเป็นตราประทับในหนังสือราชการของกรม กองต่าง ๆ และเป็นหัวกระดาษของหนังสือราชการของราชการทั่ว ๆ ไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ ซึ่งครุฑที่ใช้ในส่วนราชการมีความแตกต่างกันออกไป ครุฑที่เท้าตั้งเฉียงจะใช้ในราชการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น ส่วนการใช้ในส่วนงานอื่นจะใช้เป็นครุฑเท้างุ้ม

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 หมวด 4 ระบุว่า ตราครุฑสำหรับแบบพิมพ์ มี 2 ขนาด คือ ขนาดตัวครุฑสูง 3 เซนติเมตร และ ขนาดตัวครุฑสูง 1.5 เซนติเมตร ตราชื่อส่วนราชการให้ใช้ขนาดตัวครุฑสูง 3 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรูปวงกลมสองวงซ้อนกัน เส้นผ่าศูนย์กลางวงนอก 4.5 เซนติเมตร วงใน 3.5 เซนติเมตร ล้อมครุฑขนาดตัวครุฑสูง 3 เซนติเมตร ระหว่างวงนอกและวงในมีอักษรไทยชื่อกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเป็นกรมหรือจังหวัดอยู่ในขอบล่างของตรา ส่วนราชการที่มีการติดต่อกับต่างประเทศ จะให้มีชื่อภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้ โดยให้อักษรไทยอยู่ขอบบนและอักษรโรมันอยู่ขอบล่างของตรา



 ดังนั้น ในการพิมพ์หนังสือราชการจึงควรระมัดระวังในการใช้ตราครุฑด้วย กล่าวคือ ขนาดตัวครุฑสูง 3 เซนติเมตร จะใช้กับหนังสือภายนอก หนังสือประทับตรา หนังสือสั่งการที่เป็นคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับ หนังสือประชาสัมพันธ์ที่เป็นประกาศและแถลงการณ์ หนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานในราชการที่เป็นหนังสือรับรอง เป็นต้น ส่วนขนาดตัวครุฑสูง 1.5 เซนติเมตร จะใช้กับหนังสือภายใน

จะสังเกตุได้ว่า การใช้ตราครุฑทั้ง 2 ขนาด แตกต่างกัน คือ ขนาดตัวครุฑสูง 3 เซนติเมตร มักจะใช้อยู่ตรงกลางของหัวกระดาษ หรืออยู่ในตราชื่อส่วนราชการ ส่วนขนาดตัวครุฑสูง 1.5 เซนติเมตร มักจะอยู่ตรงส่วนอื่น ๆ เช่น อยู่ด้านบนซ้ายของหนังสือภายใน หรืออยู่ด้านบนซ้ายของซองจดหมาย เป็นต้น

นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ

นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ   ตำแหน่งประเภท                       วิชาการ ชื่อสายงาน                                 วิชาการวัฒนธรรม ชื่อตำ...