ชื่อสายงาน พัฒนาระบบราชการ
ชื่อตำแหน่งในสายงาน นักพัฒนาระบบราชการ
ระดับตำแหน่ง ทรงคุณวุฒิ
หน้าที่ความรับผิดชอบหลัก
ปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่ทรงคุณวุฒิ ซึ่งใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานด้านพัฒนาระบบราชการ เป็นที่ประจักษ์ในความสามารถ เป็นที่ยอมรับในระดับชาติปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาในทางวิชาการที่ยากและซับซ้อนมากเป็นพิเศษและมีผลกระทบในวงกว้างระดับนโยบายกระทรวงหรือระดับชาติ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย หรือปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานให้คำปรึกษาของส่วนราชการระดับกระทรวง ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานด้านพัฒนาระบบราชการ เป็นที่ประจักษ์ในความสามารถ เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาในทางวิชาการที่ยากและซับซ้อนมากเป็นพิเศษและมีผลกระทบในวงกว้างระดับนโยบายกระทรวงหรือระดับชาติ และปฏิบัติงานอื่นตาม ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีลักษณะงานที่ปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านการปฏิบัติการ
(1) ให้คำปรึกษา เสนอความเห็น ระบุประเด็นสำคัญพร้อมแนวทางแก้ปัญหา เสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ หลักเกณฑ์ มาตรฐาน แนวทางต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการและงานของรัฐอื่นๆ เพื่อให้ระบบราชการมีความเข้มแข็ง ทันสมัย สอดรับกับการบริหารภาครัฐแนวใหม่
(2) ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ หลักการ แนวคิด เทคนิค วิธีการบริหารงานที่ได้รับ การยอมรับในระดับสากล บูรณาการกำหนดเป็นหลักการ มาตรการ แนวทางการพัฒนาระบบราชการไทย เพื่อให้การบริหารราชการในแต่ละมิติเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
(3) เป็นที่ปรึกษาเสนอแนะทิศทางนโยบายการพัฒนาระบบราชการด้านต่าง ๆ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ วินิจฉัยปัญหา เสนอแนวทางแก้ไข เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในระดับนโยบาย เพื่อให้การพัฒนาระบบราชการด้านต่าง ๆ บรรลุผลเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง
(4) ให้คำปรึกษา เสนอแนะและบริหารโครงการนวัตกรรมในการบริหารราชการ คิดริเริ่มสร้างเครื่องมือ เทคนิค วิธีการบริหารราชการ เพื่อพัฒนาหลักการแนวทางและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ และขยายผลการดำเนินการไปสู่การปฏิบัติ
(5) ให้คำปรึกษาแนะนำ บริหารโครงการที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นที่ริเริ่มใหม่ ที่มีผลกระทบสูงต่อระบบราชการในภาพรวม ดำเนินโครงการนำร่อง เพื่อแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติบูรณาการการทำงานและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปประมวลผล เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการส่งเสริมขยายผลไปสู่การปฏิบัติ
(6) ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติราชการ ประเมินผลการพัฒนาระบบราชการในภาพรวม ส่งเสริมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ จัดทำรายงานสรุปผลการพัฒนาระบบราชการ เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ ต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบาย
2. ด้านการวางแผน
วางแผนหรือร่วมดำเนินการวางแผนหรือให้คำปรึกษาแนะนำในการวางแผน โดยเชื่อมโยงหรือบูรณาการแผนงาน โครงการในระดับกลยุทธ์ของส่วนราชการระดับกระทรวง ติดตามประเมินผลภาพรวม เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด
3. ด้านการประสานงาน
(1) ประสานการทำงานภายในกรม กระทรวง หรือองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ โดยมีบทบาทในการเจรจา โน้มน้าว เพื่อให้เกิดความร่วมมือและผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด
(2) ให้ข้อคิดเห็น และคำแนะนำ แก่หน่วยงานระดับกรม กระทรวง รวมทั้งที่ประชุมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน
4. ด้านการบริการ
(1) ให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐอย่างอื่น เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย มาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาระบบราชการ
(2) ให้คำปรึกษาแนะนำ วินิจฉัย ชี้แจง และตอบปัญหาการพัฒนาระบบราชการที่เป็นประเด็นสำคัญและมีผลกระทบระดับสูง ถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจในนโยบาย หลักการ แนวคิด และวิธีการพัฒนาระบบราชการที่ถูกต้อง เพื่อให้ระบบราชการมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักพัฒนาระบบราชการ ระดับปฏิบัติการ และ
2. ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาแล้ว ดังต่อไปนี้
2.1 ประเภทบริหาร ระดับสูง
2.2 ประเภทบริหาร ระดับต้น ไม่น้อยกว่า 1 ปี
2.3 ประเภทอำนวยการ ระดับสูง ไม่น้อยกว่า 2 ปี
2.4 ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ
2.5 ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 2 ปี
2.6 ตำแหน่งอย่างอื่นที่เทียบเท่า 2.1 หรือ 2.2 หรือ 2.3 หรือ 2.4 หรือ 2.5 แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด
และ
3. ปฏิบัติงานด้านพัฒนาระบบราชการหรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ส่วนราชการเจ้าสังกัด เห็นว่าเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
ความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง
1. มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง
2. มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง
3. มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง