ตำแหน่งประเภท วิชาการ
ชื่อสายงาน พัฒนาระบบราชการ
ชื่อตำแหน่งในสายงาน นักพัฒนาระบบราชการ
ระดับตำแหน่ง ชำนาญการพิเศษ
หน้าที่ความรับผิดชอบหลัก
ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างาน ซึ่งต้องกำกับ แนะนำ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ร่วมปฏิบัติงาน โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความชำนาญงานสูงมากในด้านพัฒนาระบบราชการ ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่ยากมาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย หรือปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความชำนาญงานสูงมากในด้านพัฒนาระบบราชการ ปฏิบัติงานที่ต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่ ยากมาก และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีลักษณะงานที่ปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านการปฏิบัติการ
(1) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ประเมินสถานการณ์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปประเด็นสำคัญ เสนอความเห็น จัดทำข้อเสนอในการกำหนดนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้ระบบราชการมีความเข้มแข็ง ทันสมัย สอดรับกับการบริหารภาครัฐแนวใหม่
(2) เป็นที่ปรึกษาส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้คำปรึกษาแนะนำ วินิจฉัยปัญหา ให้ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
(3) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เสนอความเห็น เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดและพัฒนาโครงสร้างส่วนราชการ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่นการจัดตั้ง การรวม การโอน การยุบเลิก การกำหนดชื่อ การกำหนดหน้าที่ และการแบ่งส่วนราชการ เพื่อปรับบทบาทภารกิจและขนาดของส่วนราชการให้มีความเหมาะสม
(4) เสนอแนะ ให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาของส่วนราชการ และหน่วยงานอื่นของรัฐ เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างส่วนราชการ การพัฒนาองค์กร การบริหารงานราชการ การจัดระบบงาน การปรับปรุงรูปแบบขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ตอบสนองความต้องการของประชาชน
(5) ให้คำปรึกษาแนะนำ ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดัน ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ดำเนินการตามนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ แนวทางการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้การพัฒนาระบบราชการ เกิดผลเป็นรูปธรรมและอย่างต่อเนื่อง
(6) ชี้แจงทำความเข้าใจ เผยแพร่ สื่อสารสร้างความเข้าใจ ฝึกอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการด้านต่าง ๆ แก่ส่วนราชการ ข้าราชการ บุคคลที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการปฏิบัติราชการ
(7) ให้คำปรึกษาแนะนำ เสนอแนะ หลักเกณฑ์ แนวทาง วิธีการเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาระบบราชการ การส่งเสริมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ติดตามประเมินผลการปฏิบัติราชการแก่ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ จัดทำรายงานเกี่ยวกับ การพัฒนาระบบราชการของส่วนราชการ สรุปความเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานพัฒนาระบบราชการ เสนอผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่กำหนด
(8) กำกับดูแลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การบริหารงบประมาณและการคลัง การติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน การบริหารทรัพยากรบุคคล การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ งานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ การสื่อสารสร้างความเข้าใจในการพัฒนาระบบราชการ การประชาสัมพันธ์ งานวิเทศสัมพันธ์ งานช่วยอำนวยการ งานสวัสดิการ งานอาคารสถานที่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจหลักของส่วนราชการ
2. ด้านการวางแผน
วางแผนหรือร่วมดำเนินการวางแผนงาน โครงการของหน่วยงานระดับสำนักหรือกอง มอบหมายงาน แก้ปัญหาในการปฏิบัติงานและติดตามประเมินผล เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด
3. ด้านการประสานงาน
(1) ประสานการทำงานร่วมกันในทีมงานโดยมีบทบาทในการชี้แนะ จูงใจทีมงานหรือหน่วยงานอื่นในระดับสำนักหรือกอง เพื่อให้เกิดความร่วมมือและผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด
(2) ชี้แจง ให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการหรือคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน
4. ด้านการบริการ
(1) ให้คำปรึกษาแนะนำ ชี้แจงตอบปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในเรื่องที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้อง การดำเนินการตามนโยบาย มาตรการ แนวทางและวิธีดำเนินการพัฒนาระบบราชการ ที่มีความซับซ้อนหรือในระดับยาก ที่ต้องใช้ทั้งความรู้และประสบการณ์ในการชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาระบบราชการบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดและเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
(2) ถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในด้านต่าง ๆ ให้แก่ส่วนราชการ ข้าราชการ ภาคเอกชนหรือประชาชนทั่วไป และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาระบบราชการบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด
(3) ให้ข้อมูลสารสนเทศ ความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อประกอบการกำหนดนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์และวิธีการ หรือแนวทางดำเนินการในการพัฒนาระบบราชการ หรือเพื่อประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายด้านต่างๆ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
(4) จัดทำเอกสารทางวิชาการ ตำรา คู่มือ สื่อต่างๆ เพื่อการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ รวมทั้ง การพัฒนาเครื่องมือ เทคนิค วิธีการ เพื่อสนับสนุน การดำเนินการพัฒนาระบบราชการของส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ
คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1. มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักพัฒนาระบบราชการ ระดับปฏิบัติการ และ
2. ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาแล้ว ดังต่อไปนี้
2.1 ประเภทอำนวยการ ระดับต้น
2.2 ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ
2.3 ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ไม่น้อยกว่า 4 ปี
2.4 ตำแหน่งอย่างอื่นที่เทียบเท่า 2.1 หรือ 2.2 หรือ 2.3 แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด
และ
3. ปฏิบัติงานด้านพัฒนาระบบราชการหรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดเห็นว่าเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
ความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง
1. มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง
2. มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง
3. มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง